วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

รถไฟชินคันเซ็น

ชินคันเซ็น (ญี่ปุ่น: 新幹線 shinkansen)เป็นเครือข่ายของรถไฟความเร็วสูงในญี่ปุ่นซึ่งดำเนินการโดย 4 กลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น นับตั้งแต่ได้เปิดใช้โทไกโด ชินคันเซ็น ในปี ค.ศ. 1964 รถไฟคันนี้สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้น เครือข่ายของระบบรถไฟนี้ก็ได้ขยายออกไปจนครอบคลุมพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ของประเทศตามเมืองใหญ่ ๆ ในเกาะฮนชู เกาะคีวชู ความยาวเส้นทางรวม 2,459 กิโลเมตร โดยสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะเกิดแผ่นดินไหวหรือพายุไต้ฝุ่น ก็สามารถวิ่งได้ตามปกติ ในรางปกตินั้นรถไฟสามารถเร่งความเร็วได้ถึง 443 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ทำการทดสอบในปี 1996) แต่สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 581 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วสถิติโลกเมื่อวิ่งด้วยรางรถไฟแม่เหล็ก (แมกเลฟ) ในปี 2003
ชินคันเซ็น มีความหมายว่า "ทางรถไฟสายใหม่" ดังนั้น ตามความหมายอย่างเป็นทางการ ชินคันเซ็น จะเป็นชื่อที่ใช้เรียกระบบรางรถไฟเท่านั้น ส่วนตัวรถไฟจะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "รถไฟความเร็วสูง" หรือ "รถไฟซูเปอร์เอกซ์เพรส" (超特急, chō-tokkyū) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองชื่อก็ไม่ได้ทำให้เกิดความสับสนแต่อย่างใด สามารถเรียกใช้แทนกันได้แม้แต่ในญี่ปุ่นก็ตาม

เมื่อเปรียบเทียบกับทางรถไฟสายเก่าแล้ว ชินคันเซ็นจะมีความแตกต่างตรงที่รางรถไฟจะมีความกว้างเป็นแบบมาตรฐาน และมีการขุดอุโมงค์เข้าไปหรือสร้างสะพานข้ามเมื่อเจอสิ่งกีดขวางแทนที่จะอ้อมไปแบบแต่ก่อน ทำให้เส้นทางรถไฟของชินคันเซ็นจะมีความคดเคี้ยวน้อยกว่า และช่วยร่นระยะทางให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีเส้นทางเดินรถที่ใหญ่และไกล แต่ชินคันเซ็นนั้นก็เป็นเส้นทางที่ใช้เชื่อมตามมหานครใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นเท่านั้น

ประวัติ

รางรถไฟชินคันเซ็น เป็นรางที่มีความกว้างมาตรฐาน (standard gauge)ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่สร้างทางรถไฟมาเพื่อรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะ เนื่องจากภูมิประเทศของญี่ปุ่นจะเต็มไปด้วยภูเขามากมาย เส้นทางรถไฟที่มีอยู่ในขณะนั้นจึงมีความกว้างแบบแคบ คือ 1,067 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้ต้องวางเส้นทางรถไฟที่คดเคี้ยวและรถไฟไม่สามารถเร่งให้มีความเร็วสูงกว่านี้ได้ ต่อมา ญี่ปุ่นมีความต้องการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงมากกว่าความต้องการสร้างของประเทศที่มีระบบรางรถไฟความกว้างมาตรฐานอยู่แล้วและญี่ปุ่นนั้นก็มีศักยภาพในการปรับปรุงระบบรถไฟให้ทันสมัยมากกว่าอีก

จุดประสงค์แรก

ชื่อเรียกอีกชื่อที่คุ้นหูกันดีสำหรับชินคันเซ็นนี้ก็คือ รถไฟหัวกระสุน (bullet train) ซึ่งเป็นความหมายของคำในภาษาญี่ปุ่นว่า dangan ressha (弾丸列車) ต่อมาชื่อนี้ได้นำมาเรียกเป็นชื่อเล่นของโครงการตั้งแต่ตอนเริ่มต้นปรึกษาหารือความเป็นไปได้ของโครงการในราวทศวรรษที่ 1930 ชื่อนี้ได้มาจากลักษณะของหัวรถจักรที่มีลักษณะคล้ายกับหัวกระสุนปืนและยังมีความเร็วสูงเหมือนกระสุนปืนนั่นเอง

คำว่า "ชินคันเซ็น" มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) เพื่อใช้เรียกเส้นทางทางเดินรถไฟโดยสาร/สินค้าจากกรุงโตเกียวไปยังชิโมะโนะเซะกิที่จะสร้างขึ้นในสมัยนั้น โดยการใช้พลังงานไอน้ำและหัวรถจักรไฟฟ้าที่สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นสามปี รัฐมนตรีรถไฟได้ผลักดันให้เกิดโครงการขยายทางรถไฟไปสู่กรุงปักกิ่ง (โดยการเจาะอุโมงค์ผ่านคาบสมุทรเกาหลี) หรือยาวไปจนถึงสิงคโปร์เลยทีเดียว ไปจนถึงการสร้างทางรถไฟเชื่อมกับทางรถไฟสายไซบีเรียนของรัสเซียและทางรถไฟสายอื่น ๆ ของเอเชีย แต่ต่อมา แผนนี้ได้มีการยกเลิกในปี พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) และสภาวะของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างบางส่วนก็ได้รับการพัฒนาต่อ เช่น อุโมงค์บางส่วนได้มาการนำมาใช้สำหรับชินคันเซ็นในปัจจุบันนับตั้งแต่มีการสร้างครั้งแรกในช่วงสงคราม

การก่อสร้าง
ภูเขาไฟฟูจิกับรถไฟชินคันเซ็น ในช่วงดอกซากุระบาน
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง รถไฟความเร็วสูงก็ได้เลือนหายไปจากความทรงจำของคนญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปี ต่อมากลางทศวรรษที่ 1950 ทางรถไฟสายหลักโทไกโดก็ถูกใช้งานมาจนเต็มขีดความสามารถแล้ว รัฐมนตรีรถไฟของญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจกลับมาทบทวนโครงการชินคันเซ็นอีกครั้ง รัฐบาลได้อนุมัติโครงการเมื่อปี 1958 การก่อสร้างทางรถไฟส่วนแรกของ โทไกโด ชินคันเซ็น ระหว่างกรุงโตเกียวไปยังโอซะกะก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 การก่อสร้างทางรถไฟครั้งนี้ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารโลกเป็นจำนวนเงิน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 1962 ได้มีพิธีเปิดการทดสอบระบบเพื่อการขนสินค้าเป็นครั้งแรกในบางส่วนของเส้นทางนี้ ที่เมืองโอะดะวะระ จังหวัดคะนะงะวะ

โทไกโด ชินคันเซ็น ได้เปิดใช้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ซึ่งทันเวลาสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ณ กรุงโตเกียวพอดี ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จทันทีทีเปิดใช้บริการ โดยมีจำนวนผู้โดยสารถึง 100 ล้านคนในเวลาน้อยกว่า 3 ปีคือวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) และยอดผู้โดยสารรวมมีจำนวนถึง 1,000 ล้านคนในปี 1976 และรถไฟขบวนโดยสาร 16 ตู้ก็ได้นำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการปี 70 ที่โอซะกะ

รถไฟชินคันเซ็นขบวนแรกวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นก็เพิ่มเป็น 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟบางขบวนที่มีรูปร่างเป็นหัวกระสุนนั้นยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และหัวรถจักรคันหนึ่งในจำนวนนี้ปัจจุบันได้นำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติ ที่เมืองยอร์ค สหราชอาณาจักร
การต่อขยายเส้นทาง

หลังจากในช่วงแรกประสบความสำเร็จ จึงพร้อมที่จะต่อขยายเส้นทางเดินรถไฟออกไปทางตะวันตก โดยมีจุดหมายไปยังฮิโระชิมะและฟุกุโอะกะ (ซันโย ชินคันเซ็น) จนแล้วเสร็จในปี 1975

คาคุเออิ ทานากะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างมาก รัฐบาลชุดนี้ตั้งเป้าว่าจะต่อขยายรางรถไฟที่มีอยู่ให้กลายเป็นรางรถไฟรางคู่ขนานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เส้นทางใหม่ 2 แห่งแรกคือ โทโฮคุ ชินคันเซ็น และโจเอสึ ชินคันเซ็น ทั้งสองเส้นทางนี้สร้างขึ้นตามแผนการของรัฐบาลชุดนี้ หลังจากนั้นแผนการต่อขยายในเส้นทางอื่น ๆ ก็ถูกระงับชั่วคราวหรือถูกยกเลิกไปทั้งหมดขณะที่กิจการรถไฟแห่งชาติเริ่มเข้าสู่ภาวะเป็นหนี้มหาศาลเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเครือข่ายชินคันเซ็นทั่วประเทศนั้นเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว ในราวทศวรรษที่ 1980 การรถไฟญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเกือบจะล้มละลาย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นหน่วยงานเอกชนในที่สุด เมื่อปี 1987
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนารถไฟชินคันเซ็นก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอด มีต้นแบบรถที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละรุ่นออกมาเสมอ ตอนนี้ รถไฟชินคันเซ็นสามารถทำความเร็วได้ถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก้าวขึ้นมาเทียบเท่ารถไฟความเร็วสูงระดับโลกไม่ว่าจะเป็น TGV ของฝรั่งเศส, TAV ของอิตาลี, AVE ของอิตาลี และ ICE ของเยอรมนี

นอกจากนั้น ตั้งแต่ปี 1970 ญี่ปุ่นยังได้พัฒนาชุโอะ ชินคันเซ็น ซึ่งเป็นรถไฟพลังแม่เหล็ก (แม็กเลฟ) โดยกำหนดว่าจะวิ่งจากโตเกียวไปยังโอซะกะ ในวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2003 รถไฟพลังแม่เหล็กขนาดสามตู้รถไฟ ชื่อ JR-Maglev MLX01 ก็สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดเป็นสถิติโลกของทุกวันนี้ นั่นคือ 581 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สถิติด้านความปลอดภัย

ระหว่างการใช้งานกว่า 40 ปีเต็ม จำนวนยอดผู้โดยสารกว่า 6 ล้านคนมาแล้ว ชินคันเซ็นก็ไม่เคยมีประวัติว่ามีผู้โดยสารเสียชีวิตเนื่องจากรถไฟตกรางหรือรถไฟชนกันเลย (รวมไปถึงอุบัติเหตุแผ่นดินไหวและพายุไต้ฝุ่นด้วย) มีเพียงการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากประตูรถไฟงับผู้โดยสารหรือสัมภาระของผู้โดยสารเท่านั้น เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สถานีเพื่อป้องกันการเกิดเหตุร้ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็เคยมีประวัติผู้โดยสารฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในรางขณะที่รถไฟกำลังเทียบชานชาลาหรือกระโดดออกจากรถไฟก่อนที่รถไฟจะจอด

ชินคันเซ็นช่วงที่กำลังรับส่งผู้โดยสารนั้นเคยตกรางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวชูเอ็ทสุ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2004 โบกี้โดยสารจำนวน 8 โบกี้จากทั้งหมด 10 โบกี้ของรถไฟหมายเลข 325 สาย โจเอ็ทสุ ชินคันเซ็น ตกรางใกล้ ๆ กับสถานีนะงะโอะกะ ในเมืองนะงะโอะกะ จังหวัดนีงะตะ แต่ผู้โดยสารทั้ง 154 คนไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวสามารถสั่งการให้รถไฟหยุดได้อย่างรวดเร็ว

ชินคันเซ็นในอนาคต

ปัญหาอย่างหนึ่งของชินคันเซ็นคือ ยิ่งเพิ่มความเร็วมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มีมลพิษทางเสียงมากขึ้นและแก้ไขได้ยากขึ้นอีกด้วย การศึกษาวิจัยในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นในเรื่องการลดเสียงดังที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงที่เกิดขึ้นในอุโมงค์ หรือ tunnel boom อันเกิดจากการที่รถไฟวิ่งออกจากอุโมงค์ด้วยความเร็วสูง
การรถไฟแห่งญี่ปุ่นสายตะวันออกได้ประกาศว่ารถไฟขบวนใหม่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะนำมาใช้ในการเปิดตัวโทโฮคุ ชินคันเซ็น ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากฮะชิโนะเฮะไปยังอะโอะโมะริในช่วงต้นปี 2011 แต่จากการทดลองวิ่งรถไฟ Fastech 360 พบว่า ที่ความเร็ว 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นยังมีปัญหาอยู่ที่มลพิษทางเสียง สายส่งเหนือรถไฟ และระยะหยุดรถ ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดของการเทคโนโลยีชินคันเซ็นในปัจจุบันก็ว่าได้ ในที่สุด ก็มีการนำเอาเทคโนโลยีรถไฟพลังแม่เหล็กหรือเทคโนโลยีอื่นมาทดแทน หากสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจากอุตสึโนะมิยะไปยังอะโอะโมะริแล้วก็จะทำให้สามารถเดินทางจากโตเกียวไปยังอะโอะโมะริได้โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น (ระยะทางประมาณ 675 กิโลเมตรหรือ 419 ไมล์)


คีวชู ชินคันเซ็น จากคะโงะชิมะไปยัตสุชิโรเปิดใช้เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2004 มีการวางแผนว่าจะต่อขยายออกไปอีก 3 เส้นทางและจะเปิดใช้ในปี 2010 นอกจากนั้นยังมีการวางโครงการระยะยาวในการต่อขยายเครือข่าย ฮอกไกโด ชินคันเซ็น จากฮะโกะดะเตะไปยังซัปโปะโระและคีวชู ชินคันเซ็นไปยังนะงะซะกิ และจะเชื่อมระหว่างคะนะงะวะกลับไปยังโอซะกะ แม้จะดูเหมือนว่าจะไม่มีโครงการใดเสร็จทันปี 2020 ก็ตาม นอกจากนั้น ผู้บริหารของการรถไฟแห่งญี่ปุ่นสายกลางก็ได้ประกาศแผนการที่จะสร้างรถไฟพลังแม่เหล็ก ชูโอะ ชินคันเซ็น ให้สามารถเดินทางจากโตเกียวไปยังนะโงะยะภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงให้ได้ (ระยะทางประมาณ 366 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ภายในปี 2025
โครงการ นาริตะ ชินคันเซ็น เพื่อสร้างการเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ โดยโครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่ก็ล้มเลิกไปในปี 1983 เพราะถูกต่อต้านจากเจ้าของที่ดินเจ้าเก่า แต่ได้ยกเลิกอย่างเป็นทางการและถอนออกจากโครงการพื้นฐานของรัฐบาลด้านโครงสร้างของชินคันเซ็นไป แต่โครงการใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2010 นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น