วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไวรัสไข้หวัดนกหรือไวรัสสายพันธุ์ H5N1


ไวรัสไข้หวัดนกที่ระบาดในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2004 มีชื่อเรียกว่า A/Chicken/Nakorn-Pathom/Thailand/CU-K2/04 (H5N1) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีลักษณะก่อให้เกิดโรครุนแรง จัดเป็นชนิด highly pathogenic AI (HPAI) ซึ่งเชื้อที่แยกได้จากไก่จะมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสไข้หวัดนกที่แยกเชื้อได้จากเป็ดในการระบาดที่ประเทศจีนเมื่อปี 2003 มากที่สุด A/Duck/China/E319.2/03 (H5N1) จากการศึกษารหัสพันธุกรรมของไวรัส พบว่ามี 20-codon deletion ในยีน neuraminidase และ 5-codon deletion ในยีน NS รวมทั้งพบ polymorphisms ของยีน M2 และยีน PB2 อีกด้วย
ไข้หวัดนกเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์ปีก แตกต่างที่ส่วนประกอบที่ผิวของไวรัส คือ ฮีแมกกลูตินินและนิวรามินิเดสเป็นคนละชนิดที่ทำให้เกิดโรคในคน เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคน ฮีแมกกลูตินินจะเป็น H1 หรือ H2 หรือ H3 แต่ของนกมีตั้งแต่ H1 ถึง H15 ส่วนนิวรามินิเดสของคนมีแต่ชนิด N1 และ N2 ส่วนของนกมีตั้งแต่ N1-N9 เชื้อไข้หวัดใหญ่ของคนที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน คือ Influenza A ชนิด H1N1, H1N2, H3N2 และ Influenza B ส่วนเชื้อที่มาจากนกและสร้างปัญหาให้แก่ประเทศไทยคือ Influenza A H5N1
สำหรับหลักเกณฑ์ในการเรียกชื่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนด
หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไว้ว่าจะต้องมีข้อมูลดังนี้
1.บอก type ว่าเป็น type A, B หรือ C
2.ชนิดของสัตว์ที่แยกเชื้อไวรัสได้ ถ้าแยกได้จากมนุษย์ไม่ต้องบอก
3.สถานที่แยกเชื้อไวรัสได้ มักเป็นชื่อเมืองหรือประเทศ
4.ลำดับของเชื้อที่แยกได้ในปีนั้น
5.ปี ค.ศ. ที่แยกเชื้อไวรัสได้
6.ถ้าเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ type A จะต้องบอก subtype ของ H และ N ด้วย
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีรูปร่างหลายแบบ กลมหรือเป็นสายยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 นาโนเมตร แต่พวกที่เป็นสายยาวอาจมีความยาวหลายไมโครเมตร ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีสายพันธุกรรมเป็น RNA สายเดี่ยวมี polarity เป็นลบ และแยกเป็นชิ้น โดย types A และ B มี 8 ชิ้น ส่วน type C มี 7 ชิ้น สำหรับไวรัสไข้หวัดนกเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ type A พบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ type A ทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดโรคในสัตว์ปีกได้ ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ types B และ C ไม่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์ปีก
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ type A ก่อการติดเชื้อในมนุษย์และสัตว์หลายชนิด เช่น ม้า สุกร นก ไก่ เป็นต้น โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบในมนุษย์มีสาเหตุเกิดจาก type A ประมาณร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกด้วย เป็น type ที่มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของฮีแมกกลูตินินและนิวรามินิเดสไปจากเดิมมากจนกระทั่งเกิดเป็น subtype ใหม่ขึ้นอยู่เรื่อยๆ ชั้นนอกของไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเปลือกหุ้ม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไขมันและไกลโคโปรตีน บนเปลือกหุ้ม มี spikes สองชนิดคือ ฮีแมกกลูตินิน ซึ่งมีรูปร่างเป็นแท่ง และนิวรามินิเดส ซึ่งมีรูปร่างเหมือนดอกเห็ด spikes 2 ชนิด รวมกันมีจำนวนประมาณ 500 ก้าน จำนวนของ H: N มีอัตราส่วนประมาณ 4-5: 1
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย หรือมีการเปลี่ยนยีนในกรณีที่เซลล์มีการติดเชื้อ 2 subtypes ที่แตกต่างกัน กลายเป็น subtype ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ และเป็นสาเหตุที่ก่อระบาดวิทยาใหญ่ทั่วโลกบ่อยกว่าไวรัสอื่น วงการแพทย์ได้บทเรียนจากอดีตว่าถ้าเชื้อจากไข้หวัดนกและเชื้อจากไข้หวัดคนไปติดในคนคนเดียวกันหรือสัตว์ตัวเดียวกันมีโอกาสที่เชื้อจะผสมกันได้ ไวรัสสายพันธ์ใหม่ที่มีความรุนแรงเหมือนไข้หวัดนกและสามารถติดคนได้เหมือนไข้หวัดคน ถ้ามีเชื้อชนิดนี้เกิดขึ้นจะเกิดการระบาดไปทั่วโลก เพราะไม่เคยมีคนใดมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้มาก่อน คนอาจจะตายหลายล้านคนเหมือนไก่ การป้องกันในคนทำยากกว่ามากเพราะเราไม่สามารถเอาคนที่สัมผัสโรคมาทำลายเหมือนไก่ได้ เชื้อไข้หว้ดใหญ่ในคนติดง่ายกว่าเชื้อซารส์ เพราะฉะนั้นจึงต้องป้องกันไว้ก่อนไม่ให้เกิด
แอนติเจนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ ฮีแมกกลูตินิน ทำหน้าที่ในการจับกับที่รับบนผิวเซลล์ ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลได้ ตำแหน่งของตัวรับนี้พบได้ในเมือกที่ปกคลุมทางเดินหายใจ และพบบนผิวเม็ดเลือดแดงด้วย ฮีแมกกลูตินินมีคุณสมบัติในการทำให้เม็ดเลือดแดงของมนุษย์หมู่เลือดโอและสัตว์บางชนิด เช่น ไก่ และหนูตะเภา เกิดปฏิกิริยาเกาะกลุ่ม คุณสมบัตินี้นำมาใช้ตรวจหาไวรัสได้ ฮีแมกกลูตินินของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ type A แบ่งออกเป็น 15 subtypes คือ H1, H2, H3... H15 ทั้ง 15 subtypes พบได้ในนก แต่เชื้อที่พบในมนุษย์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 subtypes คือ H1, H2, และ H3 ส่วน subtypes อื่นๆ มีการติดเชื้อในสัตว์ต่างๆ กัน เช่น สุกร ม้า แมวน้ำ และปลาวาฬ เชื้อไข้หวัดใหญ่ types B และ C ยังไม่มีการแบ่งฮีแมกกลูตินินออกเป็น subtype
นิวรามินิเดสเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยไกลโคโปรตีน ซึ่งเป็นตำแหน่งของตัวรับบนผิวเซลล์ทำให้ไวรัสหลุดเป็นอิสระจากเซลล์ เนื่องจากโมเลกุลของไกลโคโปรตีนนี้พบได้ในเมือกที่ปกคลุมทางเดินหายใจด้วย ทำให้ไวรัสถูกดักจับติดกับเมือกได้เมื่อเมือกจับไวรัสไว้ ไวรัสจะใช้เอนไซม์นี้ย่อยทำให้เมือกใสขึ้น ไวรัสจึงหลุดออกไปบุกรุกเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่อยู่ลึกลงไป แอนติบอดีต่อนิวรามินิเดสมีผลในการคุ้มกันโรคเพียงบางส่วน โดยแอนติบอดีต่อนิวรามินิเดสยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในขั้นตอนการปลดปล่อยไวรัสออกจากเซลส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น