การทำบุญในพระพุทธศาสนา มี 2 อย่าง ได้แก่
1. ทำบุญในงานมงคล ได้แก่ การทำบุญในโอกาสต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและญาติสนิทมิตรสหาย เช่น การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน เป็นต้น
2. ทำบุญในงานอวมงคล ได้แก่ การทำบุญเพื่อความสุขความเจริญแก่ผู้อื่นที่ตนควรสงเคราะห์หรือที่ควรบูชา การทำบุญเกี่ยวกับการตาย เช่น การทำบุญหน้าศพ การทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้นการทำบุญงานมงคลพิธีฝ่ายเจ้าภาพ ผู้ที่จะทำบุญเนื่องในงานมงคลต่าง ๆ นั้น เบื้องต้นจะต้องตระเตรียมกิจการต่าง ๆ ดังนี้
2.1 อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ นิยมเป็นจำนวนคี่ เช่น 5 รูป 7 รูป หรือ 9 รูป
2.2 เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชาเช่นโต๊ะหมู่บูชาควรจัดตั้งไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์โดยให้พระพุทธรูปผินพระพักตร์ไปทางด้านเดียวกับพระสงฆ์
2.3 ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธีให้เหมาะสมกับการทำพิธี
2.4 เชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา
2.5 วงด้ายสายสิญจน์ใช้ด้ายดิบจับ2ครั้ง9เส้น1ม้วนโยงรอบบ้านหรือรอบบริเวณที่ทำพิธีเวียนจากซ้ายไปขวาแล้วโยงเข้ามาที่โต๊ะหมู่บูชาโยงรอบโต๊ะบูชาจากซ้ายไปขวา เช่นเดียวกันไม่ควรไปพันที่องค์พระควรพันใต้ฐานพระโยงมาที่ภาชนะน้ำมนต์พันที่เชิงรองโดยเวียนขวาแล้วนำสายสิญจน์วางไว้บนพานตั้งไว้ข้างโต๊ะใกล้พระเถระผู้เป็นประธาน
2.6 ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ โดยใช้เสื่อหรือพรมปูพื้นรองรับอาสนะสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง
2.7 เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามควรแก่ฐานะ เช่น กระโถน ภาชนะน้ำเย็น พานใส่เครื่องรับรอง เป็นต้น
2.8 ตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์
2.9 เมื่อพระสงฆ์นั่ง ณ อาสนะแล้ว ก็ประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้
2.10 ได้เวลาแล้ว จุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชา บูชาพระแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี
2.11 อาราธนาศีล และรับศีล
2.12 ต่อจากรับศีล อาราธนาพระปริตร เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี
2.13 นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ด้วยจิตใจสงบ ควรพนมมือตลอด เมื่อจบแล้ว ถวายน้ำร้อนหรือเครื่องดื่มอันควรแก่สมณะ แล้วแต่จะจัด
2.14 ถวายภัตตาหาร หรือไทยธรรมแด่พระสงฆ์
2.15 กรวดน้ำ
การทำบุญงานอวมงคล
งานอวมงคล ได้แก่งานที่ทำบุญปรารภเหตุที่ไม่เป็นมงคล เช่น ปรารภการตายของบิดามารดา หรือญาติมิตร เป็นต้น ทำบุญในงานฌาปนกิจครบ 7 วัน 50 วัน 100 วันบ้าน ทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันตายบ้าง เพื่อให้เหตุร้ายกลายเป็นดี เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา การทำบุญในกรณีเช่นนี้ ส่วนใหญ่เหมือนกับงานมงคลดังกล่าวข้างต้น แต่มีข้อแตกต่างกันบ้าง ดังนี้
1. จำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์ นิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ เช่น 4 รูป 8 รูป 10 รูป
2. การสวดมนต์ ในงานอวมงคลนี้ ไม่ต้องตั้งบาตรหรือหม้อน้ำมนต์ ไม่ต้องวงด้านสายสิญจน์ที่โต๊ะหมู่บูชา คงใช้แต่ผ้าภูษาหรือด้านสายสิญจน์โยง มาวางไว้บนพานใกล้พระเถระผู้เป็นประธาน
3. ในกรณีงานทำบุญหน้าศพพึงปฏิบัติดังนี้
3.1 อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีจำนวนนิยม 4 รูป 8 รูป หรือ 10 รูป หรือกว่านั้นขึ้นไปแล้วแต่กรณี
3.2 ไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ และไม่มีการวงด้ายสายสิญจน์
3.3 เตรียมสายโยงหรือภูษาโยงต่อจากศพไว้ เพื่อใช้บังสุกุล
ส่วนการปฏิบัติเมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว ก็เป็นเช่นเดียวกับงานมงคล และหลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว นิยมให้มีการบังสุกุล แล้วจึงถวายไทยธรรม เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาพึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลต่อไปงานทำบุญอัฐิพึงจัดตระเตรียมทำนองเดียวกับงานทำบุญหน้าศพต่างแต่เพียงงานนี้เป็นงานทำบุญหน้าอัฐิหรือรูปที่ระลึกของผู้ที่ล่วงลับ เป็นต้น และระเบียบที่พึงปฏิบัติก็เหมือนกับที่กล่าวแล้วข้างต้น
ข้อปฏิบัติในวันเลี้ยงพระ
การทำบุญเลี้ยงพระ ตามปกติที่ทำกัน มักนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในสถานที่ที่ประกอบพิธี จะมีการถวายภัตตาหารอาจจะเป็นเวลาเช้า เรียกว่า เลี้ยงพระเช้า หรือเวลาก่อนเที่ยงวัน เรียกว่า เลี้ยงพระเพล ซึ่งในการทำบุญเลี้ยงพระ จะนิยมทั้งในงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป
การเตรียมการ เมื่อถึงวันกำหนดทำบุญเลี้ยงพระแล้ว เจ้าภาพจะต้องตระเตรียมในส่วนเฉพาะพิธีสงฆ์ ดังต่อไปนี้
1) สิ่งของที่ใช้ในพิธี โดยสิ่งของเหล่านี้บางสิ่งเจ้าภาพอาจจัดหามา บางสิ่งสามารถยืมจากวัดมาใช้ได้ ได้แก่ โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป กระถางธูป ขันหรือบาตรน้ำมนต์ ดอกไม้ ธูปเทียน ที่พรมน้ำมนต์ อาสนะสำหรับพระสงฆ์นั่ง กระโถน แก้วน้ำร้อน-น้ำเย็น สายสิญจน์
2) เครื่องไทยธรรม หมายถึง สิ่งของที่จะใช้ถวายพระภิกษุสงฆ์นอกจากภัตตาหารคาว-หวาน ได้แก่ ภัตตาหารคาว-หวาน น้ำรวมทั้งเครื่องดื่มอันสมควรแก่สมณบริโภค เครื่องนุ่งห่ม เช่น ไตรจีวร อังสะ เป็นต้น
3) การจัดสถานที่ การจัดโต๊ะหมู่บูชา การวงด้ายสายสิญจน์ การตั้งขันน้ำมนต์พร้อมเทียนทำน้ำมนต์ใกล้ ๆ โต๊ะหมู่ การตั้งหรือปูอาสนะพระสงฆ์
ข้อปฏิบัติในวันเลี้ยงพระ
1) เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว เจ้าภาพควรได้คอยต้อนรับท่าน
2) เมื่อพระสงฆ์นั่ง ณ อาสนะแล้ว ก็ประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้
3) ได้เวลาแล้ว จุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา บูชาพระแล้วกราบนมัสการ ๓ ครั้ง
4) อาราธนาศีล และรับศีล
5) ต่อจากรับศีล อาราธนาพระปริต เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี
6) นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อจบแล้ว ถวายน้ำร้อนหรือเครื่องดื่มอันควรแก่สมณะ
7) ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์
8) เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันแล้ว ถวายไทยธรรมแด่พระสงฆ์
9) พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธี
10) เจ้าภาพคอยส่งพระสงฆ์กลับวัด
การถวายข้าวพระพุทธ
การถวายภัตตาหารแก่พระพุทธรูป เรียกกันทั่วไปว่า “ถวายข้าวพระพุทธ” การจัดสำรับถวาย ควรจัดให้ประณีต หรืออย่างน้อยก็จัดแบบเดียวกับที่จัดถวายพระสงฆ์ ไม่ควรจัดอย่างลวก ๆ เช่น ใส่อาหารในกระทงหรือถ้วยเล็ก ๆ เหมือนกับการเซ่นไหว้ศาลพระภูมิหรือภูติผีเมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ใกล้จบหรือจบแล้ว พิธีกรจะยกสำรับไปตั้งที่หน้าพระพุทธรูปแล้วเชิญเจ้าภาพ หรือประธานในพิธี
มาทำพิธีบูชา โดยจะจุดธูป 3 ดอกนำไปปักที่กระถางธูป นั่งประนมมือ กล่าวคำบูชาว่า
อิมํ สูปพยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ
ข้าพเจ้าขอบูชาเครื่องบริโภคแห่งข้าวสาลีอันถึงพร้อมด้วยแกงกับข้าวและน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า (กล่าวจบแล้วกราบ 3 ครั้ง)
การลาข้าวพระพุทธมารับประทานนั้น กระทำเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารแล้ว โดยเจ้าภาพหรือพิธีกรเข้าไปนั่งคุกเข่าหน้าสำรับที่หน้าโต๊ะบูชานั้น กราบ 3 ครั้งแล้วประนมมือกล่าวคำว่า
เสสํ มงฺคลา ยาจามิ
ข้าพเจ้าขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคลนี้ (กราบ 3 ครั้งแล้วจึงยกสำรับกับข้าวออกมา)
การกรวดน้ำ
การกรวดน้ำ หมายถึง การตั้งใจแผ่ส่วนบุญหรือส่วนกุศลที่ได้ทำไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปหรือผู้ใดผู้หนึ่ง โดยการรินน้ำใส่ภาชนะเพื่อเป็นเครื่องบ่งถึงเจตนาอุทิศนั้น การกรวดน้ำที่นิยมโดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ
1. การกรวดน้ำโดยใช้น้ำหลั่งลงในภาชนะที่รองรับ หากที่หลั่งมีปากเล็ก เวลากรวดน้ำให้ค่อย ๆ รินใส่ที่รองโดยมิให้ขาดสาย เมื่อกรวดเสร็จให้นำไปเทไว้ที่โคนไม้หรือที่กลางแจ้ง ห้ามเทใส่ถังขยะหรือสถานที่สกปรก
2. การกรวดน้ำโดยไม่ต้องใช้น้ำ ใช้ในกรณีที่ไม่ได้จัดเตรียมน้ำสำหรับกรวดหรือหาน้ำกรวดไม่ได้ ผู้กรวดพึงตั้งใจอุทิศส่วนกุศลที่ตนได้ทำให้แก่ผู้ที่ต้องการอุทิศไปให้การกรวดน้ำ สามารถทำได้ทุกเมื่อหลังการบำเพ็ญบุญกุศล ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล ส่วนขั้นตอนการกรวดน้ำเริ่มจากที่พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาว่า ยถา วาริวหา ให้เริ่มเทน้ำกรวดพร้อมกับตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ที่ต้องการให้รับ โดยอาจระบุชื่อ นามสกุล ด้วยก็ได้ หรืออาจจะอุทิศโดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น