เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย มีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณ สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีนี้กระทำที่ท้องสนามหลวง
ทางราชการกำหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกร และกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการ ยกเว้นธนาคารและบริษัทเอกชนบางแห่งไม่หยุดทำการ วันพืชมงคลจะไม่ตรงกับวันเดิมตามสุริยคติหรือจันทรคติของทุกปี แต่สำนักพระราชวังจะเป็นผู้ประกาศวันพืชมงคล ให้เป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม แล้วแต่ในแต่ละปี
พระราชพิธีพืชมงคล
เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใดๆ จึงว่างเว้นไป ๑๐ ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง ๒๓ ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญ ร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น